เจาะลึก Climate Change Mitigation คืออะไร?
คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของสหประชาชาติ (IPCC) ได้กล่าวอธิบายไว้ว่า 'Climate Change Mitigation หรือ การลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ' คือ ความพยายามของมนุษย์ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Green House Gas - GHG) และการรักษาระดับของก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศให้คงที่ เพื่อจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลก ไม่ให้ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศรุนแรงขึ้น โดยเป้าหมายที่สำคัญของการลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ คือ การหลีกเลี่ยงการรบกวนจากกิจกรรมของมนุษย์ที่จะมีต่อระบบภูมิอากาศ และ รักษาระดับก๊าซเรือนกระจกให้คงที่ในระยะเวลาที่เพียงพอเพื่อให้ระบบนิเวศสามารถปรับตัวตามธรรมชาติให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ และทำให้แน่ใจว่าการผลิตอาหารจะไม่ถูกคุกคาม และช่วยให้การพัฒนาเศรษฐกิจดำเนินต่อไปได้อย่างยั่งยืน
Climate Change Mitigation กับผลกระทบเชิงบวก
เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้น ส่งผลกระทบโดยตรงต่อทั้งระบบนิเวศ ไม่ว่าจะเป็นความร้อนสุดขั้วที่เกิดขึ้นบ่อยและรุนแรงขึ้นในพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลก คลื่นความร้อนในมหาสมุทร ฝนตกหนักรุนแรง ความแห้งแล้งทางการเกษตรและระบบนิเวศน์ในบางภูมิภาคประสบภัยแล้ง อัตราส่วนการเกิดพายุหมุนเขตร้อนที่รุนแรงมากขึ้น ตลอดจนปริมาณน้ำแข็งขั้วโลกที่ลดลง ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่ระบบนิเวศเท่านั้น แต่ผู้คนทั่วโลกที่อาศัยอยู่ภายใต้ระบบนิเวศเหล่านี้ก็ได้รับผลกระทบตามไปด้วย ทั้งการต้องเผชิญกับสภาพอากาศแปรปรวน กระทบกับหลากหลายอาชีพ ผู้คนต้องเผชิญกับปัญหาสุขภาพจากโรคอุบัติใหม่และการช็อกจากอุณหภูมิที่สูงขึ้น ไปจนถึงความรุนแรงอย่างการต้องย้ายถิ่นฐานจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
การให้ความสำคัญกับ Climate Change Mitigation จึงถือเป็นการสร้างผลกระทบเชิงบวก ต่อทั้งระบบนิเวศ ผู้คน และโลกใบนี้ เพราะเมื่อเราสามารถลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ระบบนิเวศเริ่มกลับสู่จุดสมดุลอีกครั้ง ผู้คน สังคม และเศรษฐกิจก็จะดำเนินต่อไปได้
แนวทางการลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของยูนิลีเวอร์
ยูนิลีเวอร์ได้จัดตั้งแผนปฏิบัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (CTAP) ขึ้น เพื่อช่วยรับมือกับการเปลี่ยนแปลงและลดโลกร้อนอย่างยั่งยืน ดังตัวอย่างทั้ง 2 แนวทางดังนี้
แนวทางที่เกี่ยวข้องกับการดูแลธรรมชาติ
- โปรแกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศของซัพพลายเออร์ผู้จัดหา: เร่งการเปลี่ยนผ่านซัพพลายเออร์รายสำคัญสู่ความเป็นผู้นำด้านสภาพอากาศ พร้อมทั้งให้ความช่วยเหลือในการกำหนดเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกและคำแนะนำในการพัฒนาแผนการลดก๊าซเรือนกระจก
- การจัดการสินค้าที่มีความเสี่ยงต่อการทำลายป่าไม้: ยูนิลีเวอร์รับรองห่วงโซ่อุปทานที่ปราศจากการทำลายป่าไม้ผ่านระบบติดตามและการยืนยันที่โปร่งใส โดยเพิ่มการรับสมัครซัพพลายเออร์ผู้จัดหาและเกษตรกรรายย่อยเข้าร่วมโปรแกรมของเรา รวมถึงขับเคลื่อนการปรับปรุงการแปรรูปสินค้าที่มีความเสี่ยงต่อป่าไม้
- การใช้พลังงานหมุนเวียน: การเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานหมุนเวียน 100% ในทุกการดำเนินงาน ทั้งการสำรวจการผลิตไฟฟ้าหมุนเวียนในสถานที่เพิ่มขึ้น การเปิดใช้งานการผลิตไฟฟ้าหมุนเวียนนอกสถานที่ผ่านข้อตกลงการซื้อขายไฟฟ้า (PPA)
- การจัดการน้ำ: อนุรักษ์ทรัพยากรน้ำและปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้น้ำ
แนวทางที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรมการผลิตใหม่
- การปรับสูตรผลิตภัณฑ์: การพัฒนานวัตกรรมใหม่ เพื่อเปลี่ยนแปลงวิธีการผลิตผลิตภัณฑ์ เพราะผลิตภัณฑ์บางชนิดของเราอย่างในผงซักฟอกจำเป็นต้องใช้สารเคมีจำพวกสารลดแรงตึงผิว ซึ่งสารเหล่านี้เมื่อเกิดฟองขณะใช้จะทำให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมาได้ เราจึงมีการปรับสูตรเพื่อให้ผลิตภัณฑ์ของเรายังคงประสิทธิภาพที่ดีเยี่ยม แต่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
- การหันมาใช้บรรจุภัณฑ์ยั่งยืน: ลดขยะพลาสติก ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ด้วยแนวทางบรรจุภัณฑ์ที่สร้างสรรค์ คงความสวยงามน่าใช้ แต่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ด้วยพลาสติกรีไซเคิล (Post-Consumer Recycled Plastic - PCR) 100% รวมถึงสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานการรวบรวม การรีไซเคิล และการนำกลับมาใช้ใหม่ที่ดีขึ้น เพื่อกระตุ้นตลาดสำหรับพลาสติก PCR และปรับปรุงความพร้อมใช้งานของบรรจุภัณฑ์คุณภาพสูงให้มีวงจรที่ใหญ่ขึ้น
ยูนิลีเวอร์พาทุกคนไขกุญแจสู่การลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ
การร่วมมือกับพันธมิตรทั้งในภาครัฐและเอกชนเป็นสิ่งสำคัญในการลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ซึ่งยูนิลีเวอร์ได้ให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูธรรมชาติเป็นส่วนหนึ่งของการลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ด้วยการกำหนดแนวทางที่เกี่ยวข้องกับการดูแลธรรมชาติ และนวัตกรรมการผลิตใหม่ ที่มีผลกระทบเชิงบวกต่อความยั่งยืน เราขอเชิญชวนทุกคนมาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงนี้ เพื่อสร้างอนาคตที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม