ทำความรู้จักกับ Circular Plastic Economy คืออะไร
หลายๆ คนอาจเคยได้ยินคำว่า ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy กันมาบ้างแล้ว ซึ่งระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนของพลาสติก หรือ Circular Plastic Economy คือ ระบบอุตสาหกรรมที่วางแผนและออกแบบมาเพื่อคืนสภาพหรือให้ชีวิตใหม่แก่วัสดุต่าง ๆ ในวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์แต่จะเน้นให้ความสำคัญที่วงจรของพลาสติกเป็นหลักแทนที่จะทิ้งไปเป็นขยะเมื่อสิ้นสุดการบริโภค โดยจะเป็นการนำพลาสติกที่เป็นองค์ประกอบของผลิตภัณฑ์หรือบรรจุภัณฑ์ต่างๆ กลับมาทำให้เกิดประโยชน์ใหม่ๆ หมุนเวียนเป็นวงจรต่อเนื่องโดยไม่มีของเสีย นอกจากนี้อาจมีการมุ่งเน้นหาทรัพยากรธรรมชาติชนิดอื่นๆ หรือนวัตกรรมใหม่ๆ มาทดแทนพลาสติกที่ย่อยสลายได้ยากเหล่านี้ ทำให้เกิดการใช้พลาสติกที่น้อยลง
ซึ่งแน่นอนว่านอกจากการทำระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนของพลาสติก หรือ Circular Plastic Economy จากฝั่งขององค์กรผู้ผลิตต้นทางแล้ว แต่การจัดการขยะที่ยังหลงเหลือทั้งจากฝั่งผู้ผลิต หรือผู้บริโภคสินค้านั้น ก็เป็นสิ่งที่ทุกคนจำเป็นต้องให้ความร่วมมือกันเพื่อระบบนิเวศที่ดีขึ้น
การจัดการขยะอย่างยั่งยืน
การจัดการขยะที่ยั่งยืนที่สุด คือการจัดการขยะที่ผู้คนทุกคนทั่วโลกมีส่วนร่วมมือทำกันจนเกิดเป็นความเคยชินทุกครั้งหากต้องทิ้งขยะ โดยเริ่มต้นที่การคัดแยกขยะซึ่งจะเกี่ยวข้องกับการแยกขยะประเภทต่างๆ ที่แหล่งกำเนิดเพื่อให้แน่ใจว่าขยะเหล่านั้นจะถูกกำจัดหรือรีไซเคิลอย่างถูกต้อง โดยสามารถแยกขยะเป็นประเภทต่างๆ 4 ประเภท ดังนี้
ขยะอินทรีย์
ขยะอินทรีย์ หรือขยะที่ต้องทิ้งในถังขยะสีเขียว จะต้องเป็นกลุ่มของขยะที่ย่อยสลายได้ เช่น เศษอาหาร เศษพืชผัก เปลือกผลไม้ ใบไม้ ขยะจากสวน และวัสดุที่ย่อยสลายได้อื่นๆ โดยขยะเหล่านี้ถือเป็นอินทรียวัตถุที่มีความชื้นสูงและย่อยสลายได้ดีตามธรรมชาติ สามารถนำไปสร้างประโยชน์อย่างการทำปุ๋ยหมักต่อได้
ขยะที่รีไซเคิลได้
ขยะที่รีไซเคิลได้ หรือขยะที่ต้องทิ้งในถังขยะสีเหลือง เช่น พลาสติก กระดาษ แก้ว อะลูมิเนียม และโลหะ จะเป็นขยะที่เมื่อนำมารวมกันแล้ว สามารถนำไปขายให้ร้านรับซื้อของเก่า เพื่อเข้าสู่กระบวนการแปรรูปและนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ทำให้เกิดการใช้พลาสติกน้อยลง
ขยะที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้
ขยะที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้ หรือขยะที่ต้องทิ้งในถังขยะสีน้ำเงินเช่น พลาสติกบางประเภท เซรามิก และวัสดุที่ปนเปื้อน เช่น โฟมเปื้อนอาหาร
ขยะอันตราย
ขยะอันตราย หรือกลุ่มขยะที่ต้องทิ้งในถังขยะสีส้ม เช่น แบตเตอรี่ ลอดฟลูออเรสเซนต์ ถ่านไฟฉาย กระป๋องสีสเปรย์ กระป๋องยาฆ่าแมลง กระป๋องน้ำยาทำความสะอาดสุขภัณฑ์ รวมไปถึงขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ต้องได้รับการจัดการเป็นพิเศษ หรือหากเป็นโทรศัพท์มือถือเครื่องเก่าที่ไม่ใช่แล้ว สามารถนำไปฝากทิ้งได้ตามจุดผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เพื่อนำไปคัดแยกและจัดการขยะต่อไป
รู้จักขั้นตอนในการแยกขยะ
หลังจากรู้จักประเภทของขยะไปแล้ว ขั้นตอนต่อไปที่ต้องใส่ใจคือขั้นตอนการแยกขยะ ซึ่งแบบออกเป็น 5 ขั้นตอนง่ายๆ ดังนี้
จัดถังขยะแยกกัน
ใช้ถังขยะหรือภาชนะแยกกันสำหรับขยะแต่ละประเภท ติดฉลากให้ชัดเจนอาจติดเป็นชื่อชนิดขยะ หรือรูปขยะที่ถูกต้อง เพื่อหลีกเลี่ยงความสับสน
ให้ความรู้แก่สมาชิกในครัวเรือน
ให้ความรู้กับทุกคนในครอบครัวให้เข้าใจถึงความสำคัญของการแยกขยะและรู้วิธีการแยกขยะอย่างถูกต้อง
ทำความสะอาดวัสดุรีไซเคิล
สำหรับขยะที่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ อย่างขวดน้ำ หรือกล่องนม อย่าลืมล้างภาชนะและขวดก่อนนำไปทิ้งในถังรีไซเคิลเพื่อป้องกันการปนเปื้อน ทั้งยังง่ายต่อการจัดการขยะในลำดับต่อไป
ปุ๋ยหมักสำหรับขยะอินทรีย์
ในส่วนของขยะอินทรีย์ที่สามารถย่อยสลายได้ ควรจัดเตรียมถังปุ๋ยหมักสำหรับเศษอาหารและขยะในสวนโดยเฉพาะ เพราะนอกจากจะถือเป็นการช่วยลดปริมาณขยะที่ส่งไปยังหลุมฝังกลบแล้ว ก็ยังเป็นการช่วยให้ได้ปุ๋ยหมักที่มีคุณค่าทางโภชนาการสำหรับสวนในบ้าน ประหยัดค่าปุ๋ยสำเร็จรูปอีกด้วย
กำจัดขยะอันตรายอย่างปลอดภัย
คัดแยกขยะอันตรายให้ดี แล้วนำขยะอันตรายเหล่านั้นไปยังจุดรวบรวมขยะที่กำหนดหรือศูนย์รีไซเคิลที่จัดการกับวัสดุดังกล่าวได้
ประโยชน์จากการแยกขยะ พร้อมการสนับสนุนจากภาครัฐ
การแยกขยะมีประโยชน์ต่อทั้งวงจรการใช้สินค้าที่ส่งผลต่อระบบนิเวศของโลก โดยสามารถลดปริมาณขยะที่ต้องถูกนำไปฝังกลบ เพราะเป็นการแยกกลุ่มขยะรีไซเคิล หรือขยะอินทรีย์สำหรับทำปุ๋ยหมักออกมาไว้ก่อนแล้ว นอกจากนี้ยังถือเป็นการอนุรักษ์ทรัพยากร จากการรีไซเคิลวัสดุที่สามารถช่วยลดความต้องการวัตถุดิบ ลดการใช้พลาสติกน้อยลง ช่วยอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและพลังงาน อีกทั้งการกำจัดขยะอันตรายอย่างถูกต้องยังช่วยป้องกันสารเคมีอันตรายไม่ให้ปนเปื้อนสิ่งแวดล้อมลดมลพิษได้อีกด้วย และที่สำคัญยังถือเป็นการสนับสนุนเศรษฐกิจหมุนเวียน จากการรีไซเคิลและนำวัสดุกลับมาใช้ใหม่ช่วยให้เศรษฐกิจหมุนเวียนลดขยะและนำทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่อย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ภาครัฐและองค์กรผู้ผลิตได้ตระหนักถึงประโยชน์อย่างมากมายจากการคัดแยกขยะ จึงทำให้รัฐบาลไทยได้มีการส่งเสริมการลดขยะและรีไซเคิลอย่างจริงจัง เพื่อมีส่วนช่วยให้ประเทศไทยสะอาดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้นโดยปฏิบัติตามแนวทางการคัดแยกขยะ เข้าร่วมโครงการรีไซเคิลในท้องถิ่น สร้างความตระหนักรู้ในชุมชนท้องถิ่น และส่งเสริมให้ผู้อื่นนำแนวทางการจัดการขยะอย่างยั่งยืนมาใช้
สำหรับแล้วยูนิลีเวอร์แล้ว แนวทางนี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากเราได้มีการลงทุนเพื่อให้แน่ใจว่ากระบวนการจัดหาวัสดุสอดคล้องกับเป้าหมายด้านความยั่งยืน ด้วยความกังวลด้านสิ่งแวดล้อมที่เพิ่มมากขึ้น เราเชื่อว่าการนำเศรษฐกิจแบบหมุนเวียนมาใช้จะไม่เพียงแต่ช่วยลดมลพิษเท่านั้น แต่ยังเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรอีกด้วย ความมุ่งมั่นในระดับนี้แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของยูนิลีเวอร์ ในการใช้เทคนิคการผลิตที่รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสอดคล้องกับเป้าหมายด้านความยั่งยืนระดับโลกในอนาคต