ยูนิลีเวอร์ ประเทศไทย มุ่งมั่นที่จะเป็นผู้นำด้านความยั่งยืน โดยให้ความสำคัญกับ 4 เรื่องหลักได้แก่ สภาพอากาศธรรมชาติ พลาสติก และชีวิตความเป็นอยู่ เราเชื่อว่าการสร้างความยั่งยืนเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจของเรา เราจึงมุ่งมั่นที่จะขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงเชิงบวก เราได้บูรณาการแผนความยั่งยืนกับกลยุทธ์ของแต่ละกลุ่มธุรกิจ เพื่อส่งมอบผลลัพท์และคุณค่าที่ดีให้กับผู้บริโภค โลกและสังคม
สภาพอากาศ (Climate)
ความมุ่งมั่นของเราในเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสะท้อนให้เห็นถึงแผนการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Transition Action Plan - CTAP) ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่กำหนดแนวทางการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปีพ.ศ. 2582 และการลดการปล่อยคาร์บอน (decarbonization) และรอยเท้าคาร์บอน (carbon Footprint) ทั้งทางกายภาพและในโลกดิจิทัล ผ่านโปรแกรมต่างๆ เช่น โครงการช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสำหรับซัพพลายเออร์ (Supplier Climate Program) การปรับสูตรผลิตภัณฑ์ การจัดหาวัตถุดิบอย่างยั่งยืน การเกษตรแบบฟื้นฟู การใช้สารเคมีอย่างรับผิดชอบ การเพิ่มประสิทธิภาพบรรจุภัณฑ์ และการปรับปรุงการผลิต การขนส่ง ตู้แช่ไอศกรีม เป็นต้น
วิสัยทัศน์และความมุ่งมั่นเรื่องสภาพอากาศ
ในการประชุมวิชาการสิ่งแวดล้อมระดับชาติ ครั้งที่ 4: “การพัฒนาที่ยั่งยืนเพื่อปกป้องการเปลี่ยนแปลงของโลก” หรือ The 4th International Conference on Environment, Livelihood and Services (ICELS 2024) ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ วันที่ 20 พฤศจิกายน 2567 วิทยากรผู้แทนจากกลุ่มบริษัท ยูนิลีเวอร์ ประเทศไทย คุณณัฏฐิณี เนตรอำไพ ที่ปรึกษาอาวุโสส่วนองค์กรสัมพันธ์ ได้เข้าร่วมการเสวนา Sustainable Business Forum ในหัวข้อ Business Action to Achieve Net Zero Target เพื่อร่วมถ่ายทอดองค์ความรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์การดำเนินงานขององค์กรในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการยกระดับมาตรฐานองค์กรเพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่ธุรกิจคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืน โดยมีประเด็นที่นำเสนอดังนี้:
ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นภัยคุกคามต่อธุรกิจ เศรษฐกิจ และระบบนิเวศ หากไม่ดำเนินการใดๆ จะส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานและชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน การเติบโตของธุรกิจชะงักงัน การเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจที่ยั่งยืนเป็นโอกาสในการสร้างสรรค์นวัตกรรมและการเติบโต ธุรกิจต้องเป็นผู้นำ โดยใช้เทคโนโลยีและแนวทางปฏิบัติใหม่ๆ เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อความสำเร็จในระยะยาว
ความสำเร็จของยูนิลีเวอร์ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
ยูนิลีเวอร์บรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกใน Scope 1 & 2 ได้ถึง 74% ในปีพ.ศ. 2566 เมื่อเทียบกับปีฐานปีพ.ศ. 2558 ซึ่งเร็วกว่าที่ตั้งเป้าหมาย 70% ในปีพ.ศ. 2568 ถึง 2 ปี
ในประเทศไทย ยูนิลีเวอร์ ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลง 87% เมื่อเทียบกับฐานปีพ.ศ. 2558 ไม่มีการส่งของเสียไปหลุมฝังกลบ ใช้รถพลังงานไฟฟ้าในการขนส่งไอศกรีม 100% และโรงงานที่เกตเวย์ประสบความสำเร็จในการใช้พลังงานไฟฟ้าหมุนเวียน 100%
แผนการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
แผนการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Transition Action Plan) ของยูนิลีเวอร์ มีวัตถุประสงค์เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ตามเป้าหมายในปีพ.ศ. 2573 โดยมีแผนงาน อาทิเช่น:
- การปรับสูตรผลิตภัณฑ์ สำหรับผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในครัวเรือนให้มีส่วนผสมของวัตถุดิบที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยลง ยูนิลีเวอร์ได้คิดค้นนวัตกรรมสูตรผลิตภัณฑ์เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยยกเลิกการใช้ส่วนผสมที่มาจากเชื้อเพลิงฟอสซิล ตัวอย่างคือการเปิดตัว ‘ซันไลต์ พลัส’ โดดเด่นด้วยเทคโนโลยี แรมโน คลีน (RHAMNO Clean) ซึ่งมีส่วนผสมธรรมชาติอย่าง “แรมโนลิพิด” (Rhamnolipid) ที่สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ ดีทั้งต่อผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม
- บรรจุภัณฑ์ โดยลดการใช้วัตถุดิบใหม่ในการผลิตบรรจุภัณฑ์ให้น้อยลง เปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้พลาสติกรีไซเคิลให้มากขึ้น และออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้สามารถนำกลับมารีไซเคิลได้ รวมถึงสนับสนุนกระบวนการเก็บกลับบรรจุภัณฑ์และโครงสร้างพื้นฐานในการรีไซเคิล
ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย
ยูนิลีเวอร์สนับสนุนนโยบายที่ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ สิ่งสำคัญคือการร่วมมือกันระหว่างภาครัฐ ธุรกิจและประชาสังคม ที่จะช่วยให้บรรลุเป้าหมาย ซึ่งมีข้อเสนอแนะดังนี้
- การมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนดที่แข็งแกร่งขึ้น: ภาครัฐควรกำหนดการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (Nationally Determined Contributions หรือ NDCs) ที่แข็งแกร่งและมีประสิทธิภาพพร้อมแผนทางการเงินที่ชัดเจนเพื่อส่งสัญญาณไปยังธุรกิจต่างๆ ว่าการลงทุนด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะได้รับการสนับสนุน
- สนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานหมุนเวียน: ภาครัฐต้องแสดงให้เห็นแผนการเพิ่มกำลังการผลิตของพลังงานหมุนเวียน ซึ่งจะช่วยให้ธุรกิจต่างๆ ลดการปล่อยคาร์บอนจากการดำเนินงานได้โดยทำให้พลังงานหมุนเวียนเข้าถึงได้ง่ายขึ้น
- ปกป้องป่าและสนับสนุนเกษตรกรรายย่อย: จำเป็นต้องมีนโยบายที่เข้มแข็งขึ้นเพื่อหยุดยั้งการสูญเสียธรรมชาติภายในปีพ.ศ. 2573 ซึ่งรวมถึงการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่า และการสร้างเงื่อนไขทางการตลาดที่เป็นธรรมสำหรับสินค้าที่ผ่านการรับรองที่ผลิตโดยเกษตรกรรายย่อย
- สร้างแรงจูงใจในการเกษตรแบบฟื้นฟู: เร่งการเปลี่ยนผ่านไปสู่แนวทางการเกษตรแบบฟื้นฟูผ่านเป้าหมายที่ชัดเจน การสนับสนุนทางการเงิน โปรแกรมสร้างขีดความสามารถ และการเข้าถึงเทคโนโลยีนวัตกรรม
- ลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลในอุตสาหกรรมเคมี: จำเป็นต้องมีนโยบายระดับชาติที่บูรณาการเพื่อสร้างแรงจูงใจในการผลิตและใช้สารเคมีที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ ส่งเสริมการใช้สารตั้งต้นชีวภาพหรือคาร์บอนรีไซเคิลทางเลือก เพื่อขจัดข้อได้เปรียบทางการแข่งขันของเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ถูกกว่า และเร่งนวัตกรรมและการเปลี่ยนผ่านสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์
ความมุ่งมั่นสู่อนาคตที่ยั่งยืน
ยูนิลีเวอร์ ประเทศไทย มุ่งมั่นที่จะเป็นผู้นำในการสร้างความยั่งยืน โดยการดำเนินงานตามแผนการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (CTAP) และการมีส่วนร่วมในเวทีระดับนานาชาติอย่าง ICELS 2024 เราเชื่อว่าการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจที่ยั่งยืนไม่เพียงแต่จะช่วยปกป้องโลกของเรา แต่ยังนำมาซึ่งโอกาสในการสร้างสรรค์นวัตกรรมและการเติบโตทางธุรกิจ เราจะยังคงเดินหน้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและส่งเสริมการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่ออนาคตที่ดีกว่าสำหรับคนรุ่นหลัง