โรงงานเกตเวย์ ในกลุ่มบริษัทยูนิลีเวอร์ ประเทศไทย
โรงงานเกตเวย์ ในกลุ่มบริษัทยูนิลีเวอร์ ประเทศไทย เป็นโรงงานผลิตอาหารและสินค้าให้ร้านค้าปลีกและร้านค้าส่งของยูนิลีเวอร์ มีหน้าที่รับผิดชอบในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่เข้าถึงชีวิตผู้คนจำนวนมากทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ประกอบไปด้วยผลิตภัณฑ์แบรนด์คนอร์ (Knorr), คนอร์ สำหรับผู้ประกอบการมืออาชีพ (Knorr Professional), เบสท์ฟู้ดส์ (Best Foods), เฮลล์แมนน์ (Hellmann's) และ เลดี้ ชอยซ์ (Lady's Choice) กับเป้าหมายหลักของโรงงานเกตเวย์ที่ไม่เพียงแต่สร้างและส่งมอบผลิตภัณฑ์ที่ดีที่สุดเพื่อตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นจากผู้บริโภคเท่านั้น แต่ยังมุ่งมั่นสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ผ่านนวัตกรรมผลิตภัณฑ์และการพัฒนาเทคโนโลยีที่ทันสมัยอีกด้วย โดยโรงงานเกตเวย์ตั้งอยู่ในเขตนิคมอุตสาหกรรมเกตเวย์ จังหวัดฉะเชิงเทรา และมีความสามารถในการผลิตสูง ตอบสนองความต้องการภายในประเทศ และยังส่งออกผลิตภัณฑ์ไปยังประเทศต่าง ๆ เช่น กัมพูชา ลาว พม่า สิงคโปร์ มาเลเซีย และประเทศโดยรอบในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมถึงออสเตรเลีย
ความสำเร็จของโรงงานเกตเวย์กับการเป็นโรงงานพลังงานหมุนเวียน 100% (Renewable Energy)
โรงงานเกตเวย์ได้เริ่มดำเนินงานเกี่ยวกับความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมมาอย่างต่อเนื่อง เราได้ริเริ่มโครงการที่สนับสนุนนโยบายด้านความยั่งยืน และดำเนินภายใต้แผนการเปลี่ยนแปลงการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ (Climate Transition Action Plan: CTAP) เพื่อลดการเกิดของเสียจากกระบวนการผลิต และลดอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้มากที่สุด ตัวอย่างความสำเร็จจากการดำเนินงานด้านความยั่งยืนเรื่องสภาพภูมิอากาศ ได้แก่
พลังงานไอน้ำ:
เราได้พัฒนาระบบหม้อต้ม (Boiler) ที่ใช้ในกระบวนการผลิตและการล้างทำความสะอาดเครื่องจักร เพื่อเปลี่ยนจากการใช้น้ำมันเตาเป็นเชื้อเพลิงซึ่งมีการผลิตคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกที่มีส่วนในการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มาเป็นการใช้หม้อต้มที่ใช้เชื้อเพลิงชีวมวลมาผลิตพลังงานไอน้ำ โดยในโรงงานเกตเวย์มีหม้อต้มขนาดใหญ่ 3 ตัน โดยทีมงานของโรงงานเกตเวย์ได้ศึกษาความเป็นไปได้ในการใช้เชื้อเพลิงชีวมวลสำหรับหม้อต้มน้ำของโรงงานจากกระบวนการนี้ ซึ่งมีความท้าทายเป็นอย่างมาก เช่น การปฏิบัติตามมาตรฐานการจัดหาแหล่งพลังงานชีวมวลของยูนิลีเวอร์ การหาผู้ผลิตเศษไม้ที่มีแหล่งที่มาของไม้ เศษไม้ และกระบวนการผลิต Wood Pellet รวมถึงการขนส่งที่ผ่านมาตรฐานการจัดซื้อแหล่งเชื้อเพลิงชีวมวล การมองหาเชื้อเพลิงชีวมวลในรูปแบบอื่นสำรอง การควบคุมอุณหภูมิระหว่างการเปลี่ยนรอบ โดยต้องคำนวณความร้อนในการเผาเชื้อเพลิงให้คงที่แม้จะมีการเปลี่ยนกะทำงานพื่อให้ระบบทำงานอย่างมีเสถียรภาพ และการบริหารจัดการการเปลี่ยนแปลงต่างๆ เป็นต้น
พลังงานไฟฟ้า:
เราได้ดำเนินการขั้นตอนสำคัญสู่แนวทางปฏิบัติด้านพลังงานที่ยั่งยืน โดยได้ร่วมมือกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพื่อให้แน่ใจว่าพลังงานทั้งหมดมาจากแหล่งพลังงานหมุนเวียน 100% ความมุ่งมั่นนี้รวมถึงการซื้อพลังงานหมุนเวียนจากผู้ที่ได้ใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียน (Renewable energy certificates: RECs) ในประเทศไทยเพื่อทดแทนการปลดปล่อยคาร์บอนจากการผลิตพลังงานไฟฟ้าที่ใช้ 100% นอกจากนี้ยูนิลีเวอร์ยังได้ทำหนังสือบันทึกความร่วมมือเพื่อบรรลุเป้าหมายการปล่อยมลพิษสุทธิเป็นศูนย์เพื่อทำการศึกษาร่วมกับกฟผ. ในการหาแหล่งพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน 100% มาจัดจำหน่ายให้กับยูนิลีเวอร์ ซึ่งตอกย้ำความมุ่งมั่นของเราต่อความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม
พลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์บนอาคาร (Solar Roof):
นอกจากความร่วมมือกับภาครัฐ โรงงานเกตเวย์ยังได้ริเริ่มโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ โดยเรามุ่งเน้นไปที่การควบคุมพลังงานไฟฟ้าจากแสงแดดบนอาคารที่มีกำลังผลิตพลังงานที่สะอาดและยั่งยืนจำนวน 560 กิโลวัตต์ (หรือ 0.56 MWP) เพื่อลดการใช้พลังงานที่มาจากแหล่งเชื้อเพลิงที่เป็นแหล่งก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม และเพิ่มอัตราการใช้พลังงานหมุนเวียน มาตรการความปลอดภัยเป็นสิ่งสำคัญยิ่งในระหว่างการดำเนินการและการปฏิบัติงานที่โรงงานของเรา โดยเราจะต้องตรวจสอบโครงสร้างอาคารและปรับปรุงโครงสร้างอาคารก่อนการติดตั้งแผงโซล่าเซลล์ เพื่อให้มั่นใจว่าอาคารมีความแข็งแรงเพียงพอที่จะรับน้ำหนักของแผงโซล่าเซลล์ ระบบควบคุมไฟฟ้า (inverter) ตู้ควบคุมไฟฟ้า และอุปกรณ์อื่น ๆ เช่น ระบบทำความสะอาดแผงโซล่าเซลล์ และระบบความปลอดภัยของผู้ปฏิบัติงาน เป็นต้น ซึ่งกระบวนการนี้มีความท้าทายเป็นอย่างมาก ยกตัวอย่างเช่น กระบวนการในการขอใบอนุญาตในการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์จาก 3 ภาคส่วน คือ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) และกระทรวงพลังงาน อาจมีความซับซ้อนเนื่องจากมีเอกสารจำนวนมากที่ต้องนำส่งเสนอ ซึ่งเอกสารเหล่านี้มักประกอบด้วยข้อมูลทางเทคนิค การประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และการปฏิบัติตามข้อกำหนดทั้งหมดจำเป็นต้องมีการวางแผนเรื่องทรัพยากรและเวลาเป็นอย่างดี
สารทำความเย็นที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม:
สารทำความเย็นส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศเนื่องจากมีคุณสมบัติของก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเมื่อปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศมีส่วนทำให้เกิดภาวะโลกร้อน ดังนั้น เราจึงให้ความสำคัญในการเลือกใช้สารทำความเย็นในระบบต่างๆ ให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุด โดยยกเลิกการใช้สารทำความเย็นที่มีคุณสมบัติเป็นก๊าซเรือนกระจก ไม่ว่าจะเป็นสารคาร์โรฟลูออโรคาร์บอน (CFCs) หรือ สารไฮโดรคลอโรฟลูออโรคาร์บอน (HCFCs) เช่น R22 R304 และ R407 ซึ่งใช้ในระบบทำความเย็นที่มีปริมาณในระบบมากกว่า 5 กิโลกรัม โดยโรงงานของยูนิลีเวอร์ได้ทำการเปลี่ยนเป็นสารทำความเย็นทั้งหมดให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแต่ยังคงมีประสิทธิภาพดี ตั้งแต่ธันวาคม พ.ศ. 2564 เป็นต้นมา โดยกระบวนการนี้ได้มาตรฐานตามค่าศักยภาพในการทำให้เกิดภาวะโลกร้อน (Global Warming Potential: GWP) น้อยกว่า 5 GWP และค่าแสดงระดับการทำลายโอโซน (Ozone depletion potential: ODP) เป็นศูนย์เท่านั้น นอกจากนี้ การจัดการเรื่องการกำจัดสารทำความเย็นยังต้องได้รับการดำเนินการจากบริษัทฯ ที่ได้รับการรับรองว่ามีการกำจัดสารทำความเย็นด้วยวิธีการที่ถูกต้องและส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด เพราะยูนิลีเวอร์ไม่เพียงให้ความสำคัญกับปริมาณคาร์บอนที่เกิดขึ้นจากการผลิตเท่านั้น แต่ยังตระหนักถึงการปล่อยสารที่ต้องไม่ทำลายชั้นโอโซนอีกด้วย
จากความสำเร็จจากการดำเนินงานด้านความยั่งยืนเรื่องสภาพภูมิอากาศของโรงงานเกตเวย์ข้างต้น ทำให้โรงงานเกตเวย์ได้รับการรับรองให้เป็นหนึ่งในโรงงานยูนิลีเวอร์ที่ใช้พลังงานหมุนเวียน 100% ในปี พ.ศ. 2566
ปัจจัยความสำเร็จในการเปลี่ยนมาใช้พลังงานหมุนเวียน 100% ของโรงงานเกตเวย์
คุณพนิตนาถ จำรัสพันธุ์ ผู้อำนวยการฝ่ายผลิตกลุ่มผลิตภัณฑ์อาหาร กลุ่มบริษัท ยูนิลีเวอร์ ประเทศไทย ได้กล่าวถึงปัจจัยความสำเร็จในการเปลี่ยนมาใช้พลังงานหมุนเวียน 100% ของโรงงานเกตเวย์ว่า
“โรงงานเกตเวย์มีความมุ่งมั่นสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็น “ศูนย์” โดยเปลี่ยนมาใช้พลังงานหมุนเวียน 100% สู่ซึ่งถือเป็นความท้าทายเนื่องจากต้องได้รับการสนับสนุนจากทุกฝ่าย หนึ่งในปัจจัยความสำเร็จที่สำคัญ คือวัฒนธรรมการทำงานของยูนิลีเวอร์ที่มุ่งเน้นการมีส่วนร่วมในการทำงานเป็นทีมเดียวกัน ตั้งแต่ผู้บริหารระดับสูงร่วมวางนโยบาย แผนงาน สนับสนุน ตัดสินใจทั้งด้านเงินลงทุนและโครงการ ไปจนถึงทีมฝ่ายจัดการ ได้แก่ ฝ่ายวิศวกรรม ฝ่ายความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม ฝ่ายควบคุมคุณภาพ ฝ่ายผลิต ฝ่ายการเงิน และฝ่ายทรัพยากรบุคคล เป็นต้น การทำงานร่วมกันเป็นทีมนี้สร้างความมั่นใจได้ว่าแต่ละโครงการที่วางไว้ผ่านการประเมินความเสี่ยงจากทุกฝ่ายอย่างครบวงจร
การมีส่วนร่วมและการสนับสนุนของผู้นำ:
การมีส่วนร่วมและการสนับสนุนจากผู้นำเป็นสิ่งสำคัญสำหรับความสำเร็จ เมื่อผู้นำสนับสนุนความคิดริเริ่ม มันจะจูงใจทั้งทีมและรับประกันความสอดคล้องกับเป้าหมายขององค์กร
หนึ่งแผน หนึ่งทีม หนึ่งเป้าหมาย:
สิ่งนี้เน้นความสามัคคีและการวางแนว เมื่อทุกคนทำงานร่วมกันเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ร่วมกัน จะช่วยลดความพยายามและลดความสับสนให้เหลือน้อยที่สุด
การทำงานเป็นทีมและการทำงานร่วมกัน:
การทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิผลระหว่างสมาชิกในทีมส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ การแก้ปัญหา และประสิทธิภาพ ทีมที่เหนียวแน่นสามารถบรรลุผลได้มากกว่าความพยายามของแต่ละบุคคล
โครงสร้างและกระบวนการ:
การบูรณาการกระบวนการ ระบบ และแนวทางปฏิบัติขององค์กรทำให้มั่นใจได้ถึงความสม่ำเสมอและความยั่งยืน ช่วยป้องกันการเข้าถึงแบบเฉพาะกิจและส่งเสริมความมั่นคง
การสื่อสารที่ชัดเจน และการฝึกอบรม:
การสื่อสารที่ชัดเจน โปร่งใส และการฝึกอบรมอย่างต่อเนื่องให้กับพนักงานที่เกี่ยวข้องในทุกระดับ รวมถึงพนักงานระดับปฏิบัติการ จะช่วยเพิ่มความเข้าและความสามารถในการปรับตัว และให้ทุกคนสามารถทำงานได้อย่างปลอดภัย มีประสิทธิภาพและยั่งยืน”
โรงงานเกตเวย์เป็นความภาคภูมิใจของยูนิลีเวอร์ที่ไม่เพียงเน้นย้ำถึงความสำคัญของความยั่งยืน แต่ยังชี้ให้เห็นถึงพลังของการแบ่งปันความรู้และความพยายามในการทำงานร่วมกันภายในองค์กรรวมถึงทุกภาคส่วนที่ช่วยกันขับเคลื่อนการขับสร้างความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ด้วยการเรียนรู้และการแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่ดีที่สุด โดยโรงงานและองค์กรต่าง ๆ ที่สนใจสามารถศึกษาความสำเร็จนี้ได้ผ่านบทเรียนจากการดำเนินงานของโรงงานเกตเวย์ เพื่อปูทางสู่อนาคตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและยั่งยืนยิ่งขึ้น