ยูนิลีเวอร์ถือเป็นหนึ่งในผู้นำด้านธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภคที่ใหญ่ที่สุดในโลก เราขับเคลื่อนด้วยจุดประสงค์ที่จะทำให้การใช้ชีวิตอย่างยั่งยืนเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับทุกคน นอกจากนี้ยูนิลีเวอร์ยังมีความเชื่อมาอย่างยาวนานว่า การเป็นองค์กรที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม ร่วมแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน และสร้างความยั่งยืนให้เกิดขึ้นตลอดห่วงโซ่คุณค่าของเรา จะทำให้เรามีธุรกิจที่เติบโตอย่างแข็งแกร่ง
การประชุมคณะทำงานผู้เชี่ยวชาญของ ERIA ครั้งที่ 5 เรื่องขยะพลาสติกในทะเล
ยูนิลีเวอร์ได้มีโอกาสร่วมการประชุมคณะทำงานผู้เชี่ยวชาญของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจสำหรับอาเซียนและเอเชียตะวันออก (Economic Research Institute for ASEAN and East Asia, ERIA) ครั้งที่ 5 ในหัวข้อขยะพลาสติกในทะเล ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงเทพฯ ในวันที่ 5 - 6 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา โดยมีนางณัฏฐิณี เนตรอำไพ ที่ปรึกษาอาวุโสส่วนองค์กรสัมพันธ์ กลุ่มบริษัท ยูนิลีเวอร์ ประเทศไทย เป็นตัวแทนในการเข้าร่วมประชุม
ในงานประชุมครั้งนี้ ศูนย์ความรู้ระดับภูมิภาคสำหรับขยะพลาสติกในทะเล (Knowledge Centre for Marine Plastic Debris, RKC-MPD) ของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจสำหรับอาเซียนและเอเชียตะวันออก (ERIA) ได้ร่วมมือกับสถาบันยุทธศาสตร์สิ่งแวดล้อมโลก (Institute for Global Environment Strategies, IGES) เพื่อจัดตั้งคณะทำงานผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับขยะพลาสติกจากทะเล (EWG-MPD) โดยจุดมุ่งหมายเพื่อรวบรวมข้อมูล พัฒนานโยบายที่มีประสิทธิภาพ และส่งเสริมความร่วมมือระดับภูมิภาคเพื่อต่อสู้กับมลพิษจากพลาสติกในทะเล การจัดตั้งกลุ่มนี้แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของประเทศสมาชิกอาเซียน+3 และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวผ่านการแบ่งปันความรู้ การสร้างขีดความสามารถ และการพัฒนาข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่สามารถนำไปปฏิบัติได้
ยูนิลีเวอร์ กับแนวทางการแก้ปัญหาขยะพลาสติก
1. การปรับเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์พลาสติก
ยูนิลีเวอร์ ในฐานะองค์กรที่มีเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เราได้ทบทวนและปรับเปลี่ยนการเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ ผ่านการสนับสนุนจากศูนย์วิจัยและพัฒนาบรรจุภัณฑ์ของเรา ซึ่งให้ความสำคัญกับการพัฒนาวัสดุและเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ยั่งยืน ภายใต้หลักการของการใช้พลาสติกน้อยลง การใช้พลาสติกที่ดีขึ้น และการงดใช้พลาสติก ตามรายละเอียดดังนี้
- การใช้พลาสติกน้อยลง เป็นการลดปริมาณพลาสติกที่เราใช้ในการออกแบบตั้งต้นที่มีน้ำหนักเบา ปรับให้มีการนำพลาสติกมาใช้ซ้ำมากขึ้น และเพิ่มความเข้มข้นของผลิตภัณฑ์ให้มากขึ้น เพื่อลดขนาดบรรจุภัณฑ์ให้เล็กลงส่งผลให้ใช้พลาสติกในกระบวนการผลิตน้อยลงไปด้วย
- การใช้พลาสติกที่ดีขึ้น คือการเลือกใช้พลาสติกที่สามารถนำไปรีไซเคิลได้จริง ปรับการออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้เหมาะที่จะนำไปรีไซเคิลได้ รวมถึงการใช้พลาสติกรีไซเคิล
- การงดใช้พลาสติก เป็นการสนับสนุนให้ใช้ Refill Station หรือสถานีเติมผลิตภัณฑ์ เพื่อตัดวงจรการใช้พลาสติกโดยสิ้นเชิง และเปลี่ยนไปใช้วัสดุบรรจุภัณฑ์ทางเลือก เช่น กระดาษ แก้ว หรืออะลูมิเนียม
2. การสร้างระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนผ่าน EPR
ยูนิลีเวอร์กำลังทำงานอย่างเต็มที่เพื่อปิดช่องว่างระหว่างบรรจุภัณฑ์ที่ 'รีไซเคิลได้ทางเทคนิค' และบรรจุภัณฑ์ที่ 'รีไซเคิลได้จริง' โดยการลงทุนในการสร้างระบบการจัดการขยะเพื่อเรียกเก็บบรรจุภัณฑ์หลังการบริโภคและนวัตกรรมบรรจุภัณฑ์ โดยเจ้าของแบรนด์สินค้าจะต้องรับผิดชอบต่อการเรียกเก็บบรรจุภัณฑ์หลังการบริโภคของตนและเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ที่ง่ายต่อการรีไซเคิลภายใต้หลักการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต หรือ EPR
EPR หรือ Extended Producer Responsibility คือ เครื่องมือที่ช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถผลิตบรรจุภัณฑ์ที่ลดปัญหาสิ่งแวดล้อมได้ตลอดวงจรกระบวนการผลิต ตั้งแต่ขั้นตอนการเริ่มคิดค้น ออกแบบบรรจุภัณฑ์พลาสติก ไปจนถึงการใช้ซ้ำ การนำกลับมาใช้ใหม่ และการบำบัด จนกลายเป็นกระบวนการที่ยั่งยืน และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้ได้มากที่สุด ซึ่งนอกจาก EPR จะเป็นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าแล้ว ยังเป็นการบริหารจัดการและลดปัญหาขยะพลาสติกอย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยให้ผู้ประกอบการได้ร่วมดูแลปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบและยั่งยืนอีกด้วย
3. การเตรียมการสำหรับสนธิสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยเรื่องมลพิษจากพลาสติก
โลกกำลังจับตามมองความเคลื่อนไหวของสนธิสัญญาเรื่องพลาสติกครั้งใหญ่ที่จะมีผลทำให้ประเทศสมาชิกสหประชาชาติผู้ลงนามมีพันธกรณีที่จะต้องจัดการกับปัญหาขยะพลาสติกด้วยระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน เริ่มตั้งแต่การออกแบบต้นทาง จนถึง การจัดการหลังการบริโภคเพื่อลด ใช้ซ้ำ และรีไซเคิลพลาสติก
การสร้างและการบังคับใช้มาตรฐานสากลสำหรับบรรจุภัณฑ์เป็นกุญแจสำคัญในการรับรองว่าพลาสติกทั้งหมดจะปลอดภัยต่อการใช้งาน สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ และรีไซเคิลได้ การสร้างระบบ EPR นี้ก็เพื่อให้บริษัททั้งหมดที่ใช้บรรจุภัณฑ์และผลิตภัณฑ์อื่นๆ มีส่วนสนับสนุนทางการเงินในการเก็บรวบรวมบรรจุภัณฑ์หลังการใช้งานและนำไปแปรรูปเพื่อให้พลาสติกหมุนเวียนได้นานขึ้นด้วยมูลค่าสูงสุด เราจำเป็นต้องให้ความสำคัญระหว่างการออกแบบควบคู่กับเป้าหมายในการขยายโมเดลการใช้ซ้ำและการสร้างโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการรีไซเคิลด้วยเช่นกัน
ความก้าวหน้าของยูนิลีเวอร์ เกี่ยวกับการลดปัญหาพลาสติกทั่วโลก
เพราะปัญหาสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันคือสิ่งที่เราตระหนักอยู่เสมอ การจัดการกับมลพิษจากพลาสติกจึงเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรกๆ สำหรับยูนิลีเวอร์ โดยเรายังคงมุ่งเน้นไปที่การลดการใช้พลาสติกบริสุทธิ์โดยเพิ่มการใช้วัสดุรีไซเคิลและนวัตกรรมบรรจุภัณฑ์ใหม่ๆ เช่น แคปซูลซักผ้าในกล่องกระดาษแข็ง และในช่วงที่ผ่านมา มูลนิธิ Ellen MacArthur มูลนิธิไม่แสวงผลกำไรที่มุ่งส่งเสริมทุกภาคส่วนให้ก้าวไปสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน ได้ยกย่องให้ ยูนิลีเวอร์ เป็นหนึ่งในธุรกิจที่มีความก้าวหน้ามากที่สุดในการลดการใช้พลาสติกบริสุทธิ์
อย่างไรก็ตาม ข้อผูกพันทางอุตสาหกรรมและการริเริ่มโดยสมัครใจไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้เพียงลำพัง เราจึงจำเป็นต้องมีนโยบายเพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นระบบและช่วยกำจัดขยะพลาสติกและมลพิษมากขึ้นกว่าเดิม เพื่อจัดการกับวงจรชีวิตของพลาสติกอย่างเต็มรูปแบบ และสร้างสนามแข่งขันที่เท่าเทียมกันสำหรับทุกธุรกิจ